13แบงก์อ้ารับใช้บำเหน็จค้ำกู้



กรมบัญชีกลางผนึก 13 แบงก์ หนุนข้าราชการบำนาญ 4 แสนราย ใช้บำเหน็จตกทอดทายาทค้ำประกันเงินกู้ คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย MLR -0.5%หรือไม่เกิน 6.5%ต่อปีเตรียมให้ใช้สิทธิไม่เกินเดือนส.ค.หลังเปิดประตูยื่นคำขอ 4 ก.ค. ด้านผู้รับบำนาญสมาชิก กบข.ต้องรอประกาศกระทรวงอีกระลอก
หลังจากกรมบัญชีกลางแก้ไขกฎหมายบำเหน็จบำนาญเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอดเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงิน 2 ฉบับคือพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ.2494 สำหรับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 สำหรับผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. ในทางปฏิบัติต้องออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงิน พ.ศ. 2554 นั้น
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า กรมบัญชีกลางกำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการกู้เงินกับสถาบันการเงินโดยนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับ ธนาคารทั้ง 13 แห่ง ในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2554 ณ ห้องประชุมจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี 13 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 5.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 7. ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) 8. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 9. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 10.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 11.ธนาคารออมสิน 12.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ13. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการกู้กำหนดดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย MLR -0.5% หรือไม่เกิน 6.5% ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย MLR ของแต่ละธนาคารซึ่งจะไม่เท่ากัน โดยปัจจุบันมีผู้รับบำนาญ จำนวน 435,588 คน จ่ายเงินบำนาญรายเดือน 7,594.29 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งผู้รับบำนาญเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้รับบำนาญปกติ 248,705 คน และผู้รับบำนาญสมาชิก กบข. จำนวน 186,883 คน ขณะที่เงินส่วนที่เหลืออีก 15 เท่า ของบำเหน็จค้ำประกัน จะเป็นเงินบำเหน็จตกทอดที่เหลือไว้ให้กับทายาท ปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 70,000 ล้านบาท
"ความร่วมมือครั้งนี้ ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณแต่อย่างใด เพราะธนาคารเข้ามารับภาระ แต่ธนาคารก็ได้หลักทรัพย์ค้ำประกันชั้นดี และทางกรมบัญชีกลาง ยังได้ให้มีการหักเงินบำนาญผ่านบัญชีทันที"นายรังสรรค์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้รับบำนาญกลุ่มแรก จะสามารถยื่นคำขอกู้เงินกับสถาบันการเงินประมาณเดือนกรกฎาคมนี้และสามารถใช้บำเหน็จตกทอดดังกล่าว เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นไป ส่วนผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. คงต้องรออีกซักระยะเนื่องจากต้องผ่านกระบวนการประกาศกฎกระทรวงให้เสร็จเรียบร้อยก่อน(โดยยังอยู่ในขั้นตอนส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา)
สำหรับผู้มีสิทธิที่จะนำบำเหน็จตกทอดไปค้ำประกันการกู้เงิน หรือผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพนั้น มีเงื่อนไขในทางปฏิบัติ คือ ผู้รับบำนาญต้องแจ้งให้ผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดทราบก่อน เพราะหากไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้จะต้องนำบำเหน็จตกทอดไปใช้หนี้เงินกู้ก่อน จำนวนเงินบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับจะลดน้อยลงไป โดยเรื่องระบบการตรวจสอบสิทธิ การตรวจสอบข้อมูล และการอนุมัติวงเงินบำเหน็จตกทอดนั้นกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมระหว่างส่วนราชการ และธนาคารเรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง บำเหน็จค้ำประกัน คือ ตามกฎหมายจะมีการจ่ายเงินบำเหน็จตกทอด จำนวน 30 เท่าของบำนาญรายเดือน จ่ายให้แก่ทายาท เมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิต ต่อมามีการแก้กฎหมาย แบ่งเงินดังกล่าวให้ผู้รับบำนาญนำมาใช้ก่อน 15 เท่าของเงินบำนาญ เมื่อตอนออกจากราชการ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ถ้าเกิน ส่วนที่เกินจะไปขอรับได้อีกครั้งเมื่ออายุ 65 ปีบริบูรณ์ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 400,000 บาท เงินส่วนนี้ เรียกว่า เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินส่วนที่เหลืออีก 15 เท่า จะเป็นเงินบำเหน็จตกทอดที่เหลือไว้ให้กับทายาท วงเงินจำนวนนี้ ที่จะนำไปเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ที่เรียกกันว่า บำเหน็จค้ำประกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้รับบำนาญ เพราะโดยปกติผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะไม่ได้รับอนุมัติให้ทำนิติกรรมทางการเงิน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคาร

แหล่งที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,649 3-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บำเหน็จตกทอดค้ำประกันการกู้เงินร่วมกับสถาบันการ เป็นการช่วยเหลือข้าราชการผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญให้มีโอกาสกู้เงินเพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงิน เพื่อใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพ ขยายกิจการ รวมถึงดำรงชีวิต โดยการนำเงินบำเหน็จตกทอดที่ทายาทจะได้รับมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น