กสิกรไทยชี้ศก.-สินค้าแพงมีผลต่อพฤติกรรมการใข้จ่ายของผู้ถือบัตรเครดิต


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ทิศทางเศรษฐกิจ ปัญหาราคาสินค้าแพง ผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถือบัตรเครดิต" ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคต่างต้องเผชิญกับปัญหาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคบางกลุ่ม ที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคงจะมีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นก็อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้บริโภคบางกลุ่มได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตที่มีการผ่อนชำระบัตรเครดิต ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย และพฤติกรรมการชำระบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรเครดิต เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือของปี 2554 นี้ โดยได้ทำการสำรวจในระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2554 จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 725 ชุด โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ใช้บัตรเครดิตจับจ่ายสินค้าและบริการ โดยกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทำงาน และห้างสรรพสินค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

- การปรับขึ้นราคาสินค้ามีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถือบัตรเครดิต

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มราคาสินค้าปรับขึ้นกว่าร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรับขึ้นของราคาสินค้านั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบางกลุ่ม สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน และจากการปรับขึ้นราคาสินค้าดังกล่าว ก็อาจมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในผู้ถือบัตรบางกลุ่มที่เปลี่ยนไปตามภาวะแวดล้อมเช่นปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สอบถามถึงการปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรหรือไม่ โดยผู้ที่คิดว่าตนเองได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 68.8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของผู้ตอบแบบสอบถาม


ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงการปรับตัวของผู้ใช้บัตรเครดิตที่คิดว่าการที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกที่จะปรับพฤติกรรมในการซื้อสินค้าของตนเอง เช่น ซื้อสินค้าจำนวนน้อยลง หรือซื้อของราคาถูกลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.6 ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง เช่น ดูหนัง ทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 43.7 และผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 11.7 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้จ่าย โดยซื้อเท่าเดิมแต่พึ่งพาสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น

- ผู้ถือบัตรเครดิตใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์ทบ่อยที่สุด

ปัจจุบัน สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นเสมือนเครื่องมือทางการเงินที่มีความสะดวกสบาย มีจำนวนร้านค้ารับบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากเดิม ประกอบกับผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างออกสิทธิประโยชน์มากมายในการใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการใดบ่อยครั้งที่สุด พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตกว่าร้อยละ 23.1 ใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์ท สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ใช้บ่อยครั้งรองลงมา คือ การใช้จ่ายในร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 20.2 ขณะที่ค่าน้ำมันรถ คิดเป็นร้อยละ 19.4 ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเรื่องของเครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องประดับ และกระเป๋า เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 15.1 ค่าที่พักโรงแรมและท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 12.6 และอื่นๆ เช่น ดูหนัง จ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด


วงเงินที่ใช้จ่ายต่อเดือน สัดส่วน (ร้อยละ)

ต่ำกว่า 2,500 บาท 10.3
2,500-5,000 บาท 32.7
5,001-10,000 บาท 24.7
10,001-15,000 บาท 11.4
15,001-20,000 บาท 9.4
20,001-25,000 บาท 3.7
25,001-30,000 บาท 4.4
30,001-40,000 บาท 1.1
40,000 บาท ขึ้นไป 2 .2


สำหรับวงเงินในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละเดือน 3 อันดับแรก พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตใช้จ่ายผ่านบัตรในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเงิน 2,500-5,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่รองลงมา คือ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 5,001-10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 24.7 ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 10,001-15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 11.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

- ผู้ใช้บัตรเครดิตร้อยละ 63.3 ผ่อนชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน

เมื่อสำรวจถึงพฤติกรรมการชำระบัตรเครดิต พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ชำระบัตรเครดิตมีสัดส่วนร้อยละ 36.7 ของผู้ตอบแบบสอบถาม


ผู้ตอบแบบสอบถามที่ผ่อนชำระสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-20 ของรายได้ต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.0 ของผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต ขณะที่รองลงมา คือ ผ่อนชำระร้อยละ 21-30 ของรายได้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.4 ผ่อนชำระร้อยละ 31-40 ของรายได้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.0 ผ่อนชำระร้อยละ 41-50 ของรายได้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9 และผ่อนชำระมากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต

- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 68.7 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้บริโภคเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ผ่อนชำระเครดิตร้อยละ 68.7 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการการผ่อนชำระบัตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม


สำหรับเหตุผลที่ผู้ตอบแบบสอบถาม มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระบัตรเครดิต คือ ผ่อนชำระบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการเป็นหนี้ คิดเป็นร้อยละ 52.0 (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.3 ของผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต) ขณะที่ผ่อนชำระสินเชื่อต่องวดลดลง เนื่องจากมีภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 40.7 ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 6.3 ตอบว่า บางเดือนไม่จ่ายแต่ยอมเสียดอกเบี้ย

- ทิศทางเศรษฐกิจ ปัญหาราคาสินค้าแพง ปัจจัยสร้างความกังวลต่อผู้บริโภค

เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะสร้างความกังวลและมีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยดังกล่าวนี้ มีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับความจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตรเป็นสำคัญ จากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้ให้ความสำคัญแต่ละปัจจัยในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยอันดับแรกที่ผู้ใช้บัตรเครดิตได้ให้ความสำคัญ คือ ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คิดเป็นร้อยละ 22.6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างรองลงมา คือ ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 21.6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาสินค้าคงจะส่งผลต่ออำนาจการซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มลดลง ซึ่งก็อาจมีผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบที่จะลดลงตาม ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในอันดับถัดๆไป ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งในช่วงที่จัดทำแบบสอบถามเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเลือกตั้งจึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค


นอกจากนี้ความกังวลในเรื่องของความมั่นคงทางรายได้ คิดเป็นร้อยละ 18.6 โดยความกังวลดังกล่าวขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมรอบตัวของผู้บริโภค เช่น เศรษฐกิจ หรือความมั่นคงของอาชีพการมีงานทำ เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้บริโภคมีความกังวลเกิดขึ้น ก็จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย และอาจจะมีผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วยเช่นกัน

สำหรับความกังวลเรื่องราคาน้ำมัน คิดเป็นร้อยละ 18.1 ทั้งนี้ราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนอย่างมาก ซึ่งการปรับขึ้นราคาน้ำมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าในหลายประเภทมีการปรับตัวสูงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และส่งผลกระบเป็นลูกโซ่ต่อมายังความสามารถในการซื้อที่ลดลง อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นราคาน้ำมันมีนัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตที่มีรถส่วนตัว ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบต่างๆ ทั้งจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าในหลายประเภทมีการปรับตัวสูงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น และเริ่มส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค จากผลสำรวจ พบว่า การปรับขึ้นราคาสินค้าส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรคิดเป็นร้อยละ 68.8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

อย่างไรก็ดี จากแบบสอบถามสะท้อนให้เห็นได้ว่า เมื่อผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้ผู้ถือบัตรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตน ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อธุรกิจบัตรเครดิตในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ในด้านของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทังนี้จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเองก็มีการปรับแคมเปญสิทธิประโยชน์ของบัตรตามสภาพแวดล้อมของธุรกิจบัตรเครดิต อาทิ ส่วนลดในการเข้าพักโรงแรม ใช้คะแนนสะสมแลกแทนเงินเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในร้านค้าที่ร่วมรายการ หรือใช้จ่ายผ่านบัตเครดิตตามวงเงินที่กำหนดจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี เป็นต้น ซึ่งสิทธิประโยช์ดังกล่าวช่วยให้ถือบัตรเครดิตประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง

สำหรับในกรณีของการผ่อนชำระบัตรเครดิตนั้น แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่ผ่อนชำระบัตรเครดิตในขณะนี้ยังมีส่วนน้อยที่ไม่สามารถผ่อนชำระบัตรเครดิตได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังคงมีความผันผวนที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงธุรกิจบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กันไปกับการทำตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพื่อเป็นการรักษาระดับคุณภาพของระบบสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้ประกอบการ ก่อนที่สินเชื่อบัตรเครดิตจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ใช้บัตรเครดิต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การที่ผู้ประกอบการต่างยังคงใช้กลยุทธ์เพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิตแทนเงินสดมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูง ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ควรเกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิตอาจต้องกำหนดวงเงินในการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20-40 ของรายได้ต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับรายจ่ายด้านอื่นของผู้บริโภคด้วย ถ้าหากผู้ใช้บัตรเครดิตมีภาระการผ่อนชำระสินเชื่อประเภทอื่นๆ ในแต่ละเดือนด้วยนั้น การใช้จ่ายผ่านบัตรจึงไม่ควรมีสัดส่วนที่สูงเกินไป และไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่ารายได้ต่อเดือน เนื่องจากการชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี

แหล่งข้อมูล http://www.thannews.th.com/ วันพุธที่ 06 กรกฏาคม 2011

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ทิศทางเศรษฐกิจ ปัญหาราคาสินค้าแพง มีผล ผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถือบัตรเครดิตบริโภคต่างต้องเผชิญกับปัญหาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคบางกลุ่ม ที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคงจะมีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเช่นกัน เนื่องจากบัตรเครดิต เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทำให้ในช่วงที่ผ่านๆ มา ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างทำแคมเปญการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยเฉพาะแคมเปญสิทธิประโยชน์บัตรเครดิตที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้จ่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์ท ตามวงเงินที่กำหนดจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี เป็นต้น และรวมถึงแคมเปญส่วนลด หรือคะแนนสะสมแลกแทนเงินสด ก็จัดว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น